คุมอาหาร-ออกกำลังกาย ทำไมน้ำตาลในเลือดยังสูง หมอเฉลยง่ายๆ พลาดตรงไหน?

คุมอาหารก็แล้ว ออกกำลังกายก็แล้ว ทำไมน้ำตาลในเลือดยังสูง หมอเฉลยเหตุง่ายๆ มีอะไรผิดพลาดตรงไหน?

เว็บไซต์ไต้หวัน CTWANT รายงานเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไต้หวัน เช่นเดียวกับในประเทศไทย

โดยระบุว่า ผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 90%–95% เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนบำบัดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู “หมอหลิว ป๋อเหริน” ได้เตือนว่า หากคุณกำลังควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างจริงจัง แต่ระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าโรคเบาหวานกำลังมาเยือนแล้วก็ได้!

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา หมอหลิวได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “หากคุณนอนหลับไม่ดีในตอนกลางคืน ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณหมดแรงในตอนกลางวัน แต่ยังอาจค่อยๆ ทำลายสุขภาพระบบเผาผลาญของคุณโดยไม่รู้ตัว”

หมอหลิวยังระบุด้วยว่า มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่า

หมอหลิวอธิบายว่า สาเหตุเป็นเพราะการนอนหลับไม่เพียงพอจะเพิ่มระดับของฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และลดความสามารถของเซลล์ในการตอบสนองต่ออินซูลิน ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ยังส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนความอิ่มและความหิว ทำให้รู้สึกอยากกินตลอดเวลา โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ซึ่งในระยะยาวจะไม่เพียงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือวแปรปรวน แต่ยังนำไปสู่การสะสมไขมัน และโรคกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome)

หมอหลิวเน้นย้ำว่า หากใครกำลังควบคุมอาหารและออกกำลังกายอยู่ แต่ระดับน้ำตาลยังไม่ลดลง สาเหตุอาจมาจาก “การนอนหลับ” ก็ได้ พร้อมแนะนำว่า การนอนหลับลึกและมีคุณภาพในเวลากลางคืน จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูความไวต่ออินซูลิน ดังนั้น การมีเวลานอนที่สม่ำเสมอ ผ่อนคลายก่อนนอน และหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจอ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการดูแลสุขภาพโดยรวม

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *