จากเว็บต่างประเทศ ได้รายงานว่า ตามข้อมูลจากศูนย์โรคไต ระบบทางเดินปัสสาวะ และการฟอกเลือด โรงพยาบาลบั๊กไม (Bạch Mai) ประเทศเวียดนาม เผยตัวเลขน่าตกใจ ขณะนี้มีผู้ป่วยไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจพบใน “ระยะท้ายของโรค” จำเป็นต้องฟอกไต หรือรอการปลูกถ่ายไต
แพทย์ระบุว่า โรคไตมักเริ่มต้นอย่างเงียบๆ โดยไม่มีอาการชัดเจน เช่น บวม เหนื่อยเรื้อรัง ปัสสาวะกลางคืนบ่อย หรือมีฟองในปัสสาวะ แต่อาหารเหล่านี้มักแสดงเมื่อเข้าสู่ระยะท้าย ทำให้การรักษาล่าช้าและยากขึ้น และพฤติกรรมเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว หนึ่งในนั้นคือ “เครื่องดื่มที่เราดื่มเป็นประจำทุกวัน” โดยมีการเปิดเผยเพื่อย่ำเตือนถึงเครื่องดื่มยอดนิยมบางชนิด ที่อาจทำลายไตได้แบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและคนวัยทำงาน ที่นิยมดื่มมากเป็นพิเศษ
1. น้ำอัดลม
น้ำอัดลม โดยเฉพาะชนิดสีดำ มีส่วนผสมของกรดฟอสฟอริก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดนิ่วในไตและความเสียหายของเนื้อไต งานวิจัยจาก Clinical Journal of the American Society of Nephrology ปี 2007 ชี้ว่า การบริโภคน้ำอัดลมมากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้หญิง อีกทั้งยังมีน้ำตาลและสารให้ความหวานเทียมที่กระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดและแรงดันออสโมติก ซึ่งอาจทำให้ไตทำงานหนัก แนะนำควรดื่มน้ำเปล่า น้ำแตงกวา น้ำมะนาว หรือน้ำมะพร้าวแทน
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ ทำให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ งานวิจัยใน Alcohol Research: Current Reviews ปี 2019 ชี้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพิ่มความดันโลหิต เสี่ยงต่อการอักเสบของหลอดเลือดฝอยในไต และนำไปสู่ภาวะไตเสื่อมในระยะยาว แนะนำว่าควรเลือกดื่มชาสมุนไพรแทน เช่น ชาบัวบก หรือ ชาเมล็ดผักชีที่ช่วยขับปัสสาวะและดีท็อกซ์ไตได้เบาๆ
3. เครื่องดื่มชูกำลัง
เต็มไปด้วยคาเฟอีนในปริมาณสูงกว่ากาแฟทั่วไปถึง 2-3 เท่า รวมถึงน้ำตาลและสารกระตุ้น เช่น ทอรีน (taurine) ซึ่งเป็นอันตรายต่อไต งานวิจัยจาก Frontiers in Public Health ปี 2021 ชี้ว่า การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเป็นเวลานาน ส่งผลเสียต่อความดันโลหิต การกรองของไต และอาจทำลายท่อหน่วยไต เพราะฉะนั้นลองเปลี่ยนมาดื่มชาเขียว หรือมัทฉะไม่ใส่น้ำตาลในตอนเช้า จะช่วยให้ตื่นตัวโดยไม่ทำร้ายไต
4. เครื่องดื่มเกลือแร่ / เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา
เครื่องดื่มเหล่านี้มักถูกบริโภคผิดวิธี โดยไม่มีการออกกำลังกายร่วมด้วย เครื่องดื่มกลุ่มนี้มักมีน้ำตาล โซเดียม และโพแทสเซียมในระดับสูงเกินความจำเป็น หากดื่มมากเกินไปจะเพิ่มภาระให้ไตในการกรองและขับออก โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไต ดังนั้น แนะนำให้เลือกน้ำเปล่าผสมเลมอนเล็กน้อย หรือ น้ำมะพร้าวสดเพื่อคืนเกลือแร่ตามธรรมชาติ
5. น้ำผลไม้บรรจุขวด
แม้จะดูเหมือนดีต่อสุขภาพ แต่น้ำผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่มักมีน้ำผลไม้แท้ไม่ถึง 10% ที่เหลือคือน้ำตาลและสารแต่งกลิ่นรสงานวิเคราะห์จาก CDC (ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ) ชี้ว่าการบริโภคสารให้ความหวาน เช่น ซูคราโลส หรือ แอสปาร์แตมอาจรบกวนแบคทีเรียในลำไส้ ส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะการทำงานของไตลดลง
แนะนำว่าควรทำน้ำผลไม้สดเองโดยไม่เติมน้ำตาล หรือรับประทานผลไม้ทั้งลูกจะได้ใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระครบถ้วนกว่า
อย่าลืมว่า ปัจจัยเสี่ยงโรคไตในคนรุ่นใหม่ไม่ได้มาจากพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในพฤติกรรมการกินดื่มที่เรามองข้ามโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ดูไร้พิษภัยในชีวิตประจำวัน การรู้เท่าทันและปรับพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้อง ไต ให้อยู่กับเราไปนานๆ